วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2551




พระครูวิทิตวรเวช เจ้าอาวาสวัดท่าราบ อำเภอบางแพ และเจ้าคณะตำบลบางแพหัวโพ ท่านเป็นผู้มีภูมิความรู้ด้านการอนุรักษ์ยาสมุนไพรแบบโบราณ รอบกุฏิและวัดล้วนเต็มไปด้วยต้นสมุนไพรที่ใคร ๆ สามารถมาศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้ ท่านได้ปลูกสมุนไพรไม้น้อยกว่า ๓๐๐ ชนิด ศึกษาพืชสมุนไพรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมเปิดตำราดูสรรพคุณแต่ละชนิด แล้วเริ่มรักษาโรคให้ประชาชนอย่างง่าย ๆ ก่อน เช่น เป็นแผล ฝี ปวดท้อง ต่อมทอลซิลอักเสบ ฯลฯ ต่อมาท่านพบว่ายาสมุนไพรยังสามารถรักษาโรคได้อีกหลายอย่างจากตำรายาแพทย์แผยโบราณ ท่านจึงรับรักษาโรคโดยไม่คิดค่ารักษาแต่อย่างใด นับว่าท่านเป็นนักภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีความสามารถเด่น และเป็นที่เคารพนับถือของชุมชนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง โรคที่สามารถรักษาให้หายได้ร้อยละ ๙๐ ได้แก่ โรคหือ - หอบ โรคไซนัส โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคกาฬ โรคประโดง โรคต่อมลูกหมากอักเสบ โรคตับ - ท้องมาน เป็นต้น นอกจากการรับรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรแล้ว ท่านยังได้จัดพิมพ์หนังสือยาสมุนไพรแจกให้กับประชาชนที่มาทำบุญที่วัดท่าราบทุกปี ๆ ละ ๒๐,๐๐๐ เล่ม เพื่อเป็นวิทยาทานสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล โดยท่านทำมาแล้วเป็นเวลากว่า ๑๓ ปี และปัจจุบันวัดท่าราบยังเป็นที่ตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณในชนบท และชมรมอนุรักษ์สมุนไพร โดยท่านเป็นผู้อำนวยการและประธานชมรม ด้วยประสบการณ์ของท่าน ท่านจึงได้รับเกียรติให้เขียนตอบปัญหายาในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น คอลัมน์ยากลางบ้าน หนังสือพิมพ์มติชน คอลัมน์ตอบปัญหายาสมุนไพร หนังสือพิมพ์ไทยเดลี คอลัมน์สารพันปัญหาว่าด้วยการรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรและว่าน นิตยสาร ม.ส.ท.มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ของวัดสุทัศนเทพวราราม นิตยสารทางเดินของเปรียญธรรมสมาคม วัดสามพระยา บางขุนพรหม กรุงเพทฯ คอลัมน์สารพันปัญหารักษาโรคด้วยยาสมุนไพร นิตยสารเปรียญธรรมสมาคม และคอลัมน์ปัญหาว่าด้วยการรักษาโรคด้วยยาสมุนไพร หนังสือพิมพ์ภูมิภาค ก้าวหน้า พระครูวิทิตวรเวชได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นนักอนุรักษ์สมุนไพรคนสำคัญในวงการแพทย์แผนโบราณ กล่าวคือ ได้รับพระราชทานโล่เป็นเกียรติในฐานะสนับสนุนหลักสูตรพิเศษโครงการพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร ได้รับวุฒิบัตรในการอบรมวิทยากรโครงการตามพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร ได้รับเกียรติบัตรในการเสียสละไปเป็นครูสอนปริยัติธรรม ได้รับเข็มเครื่องหมายมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ในการเสียสละเวลาเขียนแนะนำ ยาสมุนไพรในนิตยสาร ม.ส.ท. โดยไม่คิดค่าเขียน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึงปัจจุบันทุกเดือน เป็นเข็มทองลงยาประดับเพชร และได้รับเกียรติบัตรของกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย



การทอผ้าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่คนไทยรุ่นปัจจุบันต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ในสมัยก่อน ผู้หญิงไทยจะทำเครื่องใช้ต่างๆ ในบ้านเอง งานสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำเสื้อผ้า ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ไว้ใช้กันในครอบครัว ในพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย ก็ต้องใช้ผ้า ผ้าทอจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตคนไทย กรรมวิธีและเทคนิคในการทอผ้าให้เกิดลวดลายต่างๆ เป็นเทคนิคและ ความสามารถของแต่ละคน
หลักใหญ่ของการทอผ้าก็คือ การนำเส้นฝ้ายหรือไหมมาขัดกันให้เป็นลาย โดยขึงเส้นกลุ่มหนึ่งเป็นหลัก เรียกว่า เส้นยืน แล้วใช้อีกเส้นหนึ่ง เรียกว่าเส้นพุ่ง สอดตามขวางของเส้นยืน เมื่อสานขัดกันก็จะเกิดลวดลายต่างๆ ผ้าบางชนิด ผู้ทอจะคิดหาวิธีสอดด้ายและสอดสีสลับกัน บางวิธีก็จะจับผูกและมัดเน้นเป็นช่วงๆ หรืออาจจะยกด้ายที่ทอเป็นระยะๆ ทำให้เกิดลวดลายสวยงาม ผู้ทอต้องสามารถจดจำลวดลายที่ตนคิดประดิษฐ์ได้ ถึงแม้แต่ละลวดลายจะมีความซับซ้อนและหลากหลาย แต่เขาก็สามารถนำมาประสานกันได้อย่างเหมาะเจาะ งดงามแสดงถึงภูมิปัญญาและความสามารถของชาวชนบทเป็นอย่างดี ผ้าทอมือจึงมีเทคนิคการทอและควาสวยงามเป็นที่สุด ผ้าทอของชาวบ้านมีรูปแบบ ระเบียบลาย ที่บ่งชี้ถึงกลุ่มของคนไทยสายต่างๆ ได้ ผ้าซิ่นที่นุ่ง ก็มีการทอให้แตกต่างกัน สามารถบอกได้ว่า หญิงคนใดยังเป็นโสดและหญิงคนใดแต่งงานแล้ว ผ้าซิ่นของหญิงมีสามีจะเป็นซิ่นที่นำผ้าสามชิ้นมาต่อกัน แบ่งเป็นส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนเชิงแต่ละส่วนจะทอเป็นลวดลายแตกต่างกันทั้ง 3 ส่วน ผ้าซิ่นของหญิงสาวจะเป็นผ้าผืนเดียวกันตลอดทั้งผืน อาจใช้วิธีมัดหมี่เป็นดอกเป็นลวดลายอย่างเดียวสวยงามมาก ชายผ้าซิ่นแทบทุกผืนจะมีวิธีทำลวดลายแปลกๆ เช่น อาจจะจกไหมสลับกับฝ้ายในรูปแบบของการทอผสมปักกลายๆ แต่แทนที่จะใช้เข็มปัก เขาจะใช้ขนเม่นทำลวดลาย วิธีนี้เรียกว่า จก แต่ละบ้านจะมีลวดลายของตน ผ้าตีนจกที่นิยมกันมากคือ ผ้าตีนจกของหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย เป็นศิลปะพื้นบ้านลวดลายสวย สีงาม งานประณีต นอกจากผ้ามัดหมี่ ผ้าจกแล้ว ยังมีผ้าแพรวาซึ่งใช้เป็นผ้าคลุมไหล่ หรือห่มเฉียงไหล่ ผ้าขิตซึ่งมีลวดลายเป็น
แนวเดียวกันตลอด นิยมใช้ทำหมอน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง ผ้ายกดอก
เป็นศิลปะการทออีกแบบหนึ่งคล้ายกับผ้าขิตแต่จะทอด้วยไหมทั้งผืน และยกดิ้นเงินหรือดิ้นทอง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีชื่อเสียงในการทอผ้ายก เรียกว่า ผ้ายกเมืองนคร ผ้าพื้นและผ้าอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นผ้าที่ทอใช้กันทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า เป็นส้นขัดตาตารางหรือเป็นลายเส้นธรรมดา วัตถุดิบที่ใช้ในการทอผ้า วัตถุดิบ ที่นิยมนำมาใช้ทอผ้า ได้แก่ ไหม ฝ้าย และขนสัตว์นั้น นักวิชาการเชื่อกันว่า มีกำเนิดจากดินแดนอื่นนอกประเทศไทย ไหมนั้นเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วนำไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น อินเดีย รวมทั้งดินแดนต่างๆ ในเอเชีย และยุโรป ส่วนฝ้ายเชื่อกันว่าอาจมาจากอาหรับและเผยแพร่เข้ามาใช้กัน อย่างกว้างขวางในอินเดียก่อน จึงเข้ามาในแถบประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงภายหลัง จนกลายเป็นพืชพื้นเมืองในแถบนี้ไป สำหรับขนสัตว์เป็นวัสดุที่เหมาะกับอากาศหนาว เชื่อกันว่านำมาใช้ทำผ้าในยุโรปตอนเหนือก่อน แล้วจึงแพร่หลายไปสู่ดินแดนอื่นๆการทอผ้าแบบพื้นบ้าน พื้นเมืองใภูมิภาคต่างๆในปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองหลายแห่งยังทอลวดลาย สัญลักษณ์ดั้งเดิม โดยเฉพาะในชุมชนที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์บางกลุ่มที่กระจายตัวกันอยู่ในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ศิลปะการทอผ้าของกลุ่มชนเหล่านี้จึงนับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มอยู่จนถึงทุกวันนี้ หากจะแบ่งผ้าพื้นเมืองของกลุ่มชนเหล่านี้ตามภาคต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ก็อาจจะแบ่งคร่าว ๆ ได้ดังนี้
๑. การทอผ้าในภาคเหนือแถบล้านนาไทย
๒. การทอผ้าในภาคกลาง ในภาคกลางตอนบน
๓. การทอผ้าในภาคอีสาน
๔. การทอผ้าในภาคใต้
ลวดลายและสัญลักษณ์ในผ้าไทยเป็นอย่างไร ผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยที่ทอกันตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยลวดลายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งผู้ใช้ผ้าในยุคปัจจุบันอาจไม่เข้าใจความหมายและมองไม่เห็นคุณค่า ลวดลายและสัญลักษณ์เหล่านี้ บางลายก็มีชื่อเรียกสืบต่อกันมาหลายชั่วคน บางชื่อก็เป็นภาษาท้องถิ่นไม่เป็นที่เข้าใจของรนไทยในภาคอื่น ๆ เช่น ลายเอี้ย ลายบักจัน ฯลฯ บางชื่อก็เรียกกันมาโดยไม่รู้ประวัติ เช่น ลายแมงมุม ลายปลาหมึก ซึ่งแม้แต่ผู้ทอก็อธิบายไม่ได้ ว่าทำไมจึงเรียกชื่อนั้น บางลวดลายก็มีผู้ตั้งชื่อให้ใหม่ เช่นลาย "ขอพระเทพ" เป็นต้น สัญลักษณ์และลวดลายบางอย่างก็เชื่อมโยงกับคติและความเชื่อของคนไทยพื้นบ้านที่นับถือสืบต่อกันมาหลาย ๆ ชั่วอายุคน และยังสามารถเชื่อมโยงกับลวดลายที่ปรากฏอยู่ในศิลปะอื่น ๆ เช่น บนจิตรกรรมฝาผนัง และสถาปัตยกรรม หรือบางทีก็มีกล่าวถึงใน ตำนานพื้นบ้าน และในวรรณคดี เป็นต้น
บางลวดลายก็เป็นคติร่วมกับความเชื่อสากลและปรากฏอยู่ในศิลปะของหลายชาติ เช่น ลายขอหรือลายก้นหอย เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นลายเก่าแก่แต่โบราณของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก หากเรารู้จักสังเกตและศึกษาเปรียบเทียบแล้วก็จะเข้าใจลวดลายและสัญลักษณ์ในผ้าพื้นเมืองของไทยได้มากขึ้น และมองเห็นคุณค่าได้ลึกซึ้งขึ้น ลวดลายต้นแบบ สามารถแบ่งเป็น ๔ ประเภท ได้แก่
๑. ลายเส้นตรง หรือเส้นขาด
๒. ลายฟันปลา
๓. ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือลายกากบาท
๔. ลายขดเป็นวงเหมือนก้นหอย หรือตะขอ
ลวดลายที่เชื่อมโยงกับความเชื่อพื้นบ้านอย่างเห็นได้ชัดมีอะไรบ้าง
ลวดลายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในศิลปะผ้าทอไทยนั้นเชื่อกันว่ามีความเชื่อมโยงกับคติความเชื่อของคนไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เราอาจศึกษาเปรียบเทียบลวดลายสัญลักษณ์เหล่านี้กับสัญลักษณ์อย่างเดียวกันที่ปรากฏอยู่ในศิลปะประเภทอื่น ๆ เช่น ในจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และแม้แต่ในตำนานพื้นบ้านที่เล่าขานสืบต่อกันมา หรือในวรรณกรรมต่าง ๆ ลวดลายที่เชื่อมโยงกับความเชื่อพื้นบ้านไทยอย่างเห็นได้ชัด มีดังนี้
สัญลักษณ์งูหรือนาค งูหรือนาคปรากฏอยู่ในลายผ้าพื้นเมืองของคนไทยกลุ่มต่างๆ เกือบทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะในล้านนาและในอีสาน นอกจากนี้ยังพบในศิลปะของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท ที่อาศัยอยู่นอกดินแดนของไทยในปัจจุบัน เช่น ในสิบสองปันนา ในลาว อีกด้วย
ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง คนไทยและคนลาวต่างมีความเชื่อสืบทอดกันมา เรื่องพญานาค ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองบาดาลใต้แม่น้ำโขง จนกระทั่ง ทุกวันนี้ผู้คนในแถบนั้นก็ยังเชื่อว่าเวลามีงานบุญประเพณี เช่น งานไหลเรือไฟ พญานาคก็จะขึ้นมาเล่นลูกไฟด้วย ดังที่มีผู้เห็นลูกไฟขึ้น จากลำน้ำในช่วงเทศกาลงานไหลเรือไฟเป็นประจำเกือบทุกปี
สัญลักษณ์นกหรือห่านหรือหงส์ นกหรือหงส์เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฏอยู่ในศิลปะผ้าทอพื้นบ้านในภาคเหนือของไทยเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ก็มีปรากฏมากในผ้าทอมือของลาวสิบสองปันนา และในหมู่พวกคนไทในเวียดนาม ในสถาปัตยกรรมล้านนาและล้านช้างจะพบนกหรือหงส์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญประดับอยู่บนหลังคาโบสถ์ คู่กับสัญลักษณ์นาค หรือบางแห่งก็มีแต่หงส์ประดับอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในวัดในสิบสองปันนา สัญลักษณ์นกหรือหงส์หรือนกยูง จะปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งในจิตรกรรม สถาปัตยกรรม และบนผืนผ้า นกยูงเป็นสัญลักษณ์ที่ รัฐบาลจีนปัจจุบัน ได้นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของยูนาน และได้มีการประดิษฐ์นาฏลีลาสมัยใหม่ซึ่งใช้แสดงเป็นสัญลักษณ์ของชาวไทลื้อในสิบสอบปันนา เรียกว่า ระบำนกยูง การทอลายขิต คือการคัดเก็บยกเส้นด้ายยืนพิเศษ ให้เกิดเป็นลวดลาย แล้วสอดเส้นด้ายพุ่งไปตลอดแนวของความกว้างของหน้าผ้า ทำให้เกิดลายขิตในแต่ละแถวเป็นลายขิตสีเดียวกัน การยก เป็นเทคนิคการทอยกลายให้เห็นเด่นชัด มีลักษณะคล้ายกับการทอลายขิต แต่ใช้เส้นพุ่งพิเศษ เช่น ไหม ดิ้นเงิน ดิ้นทอง มีชายมีเชิง ซึ่งขั้นตอนยุ่งยากกว่าผ้าทอลายขิตมาก การจก เป็นเทคนิคการทอลวดลายบนผืนผ้า ด้วยวิธีการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปขณะที่ทอเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้ากระทำโดยใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือ ยกหรือจกด้วยเส้นยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งพิเศษต่อไปตามจังหวะของลวดลาย สามารถสลับสีได้หลากหลายสี การทอลายน้ำไหล เป็นเทคนิคการทอแบบลายขัดธรรมดา แต่ใช้ด้ายหลากสีพุ่งเกาะเกี่ยวกันเป็นช่วง ๆ ให้เกิดจังหวะของลายน้ำไหล เป็นลักษณะเฉพาะของชาวเมืองน่าน เรียกกรรมวิธีการทอนี้ว่า "ล้วง" แต่ชาวไทลื้อ อำเภอเชียงของ และเชียงคำ จังหวัดเชียงราย เรียกว่า "เกาะ" เทคนิคนี้อาจดัดแปลงพัฒนาเป็นลายอื่น ๆ เรียกว่าลายผักแว่น ลายจรวด ฯลฯ เป็นต้น การยกมุก เป็นเทคนิคการทอ โดยใช้เส้นยืนพิเศษเพิ่มบนกี่ทอผ้าลายยกบนผ้าเกิดจากการใช้ตะกอลอยยกด้ายยืนพิเศษ ลวดลายที่เกิดจากเทคนิคนี้คล้ายกันมากกับลวดลายที่เกิดจากเทคนิค ขิต จก แทบจะแยกไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องเทคนิคการทอผ้าที่ลึกซึ้ง ชาวไทยพวนที่ตำบลหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย และที่ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เทคนิคนี้ในการทอส่วนที่เป็นตัวซิ่น บางครั้งอาจจะนำเชิงซิ่นมาต่อเป็นตีนจกเรียกว่า ซิ่นมุก การมัดหมี่ เป็นเทคนิคการมัดเส้นพุ่งหรือเส้นยืน ให้เป็นลวดลายด้วยเชือกกล้วยหรือเชือกฟางก่อนนำไปย้อมสี แล้วกรอด้ายให้เรียงตามลวดลาย ร้อยใส่เชือกแล้วนำมาทอ จะได้ลายมัดหมี่ที่เป็นทางกว้างของผ้า เรียกว่า มัดหมี่ เส้นพุ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมในบ้านเรา มีการทำผ้ามัดหมี่เส้นยืนบ้างในบางจังหวัดเช่นจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี เพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นผ้าชาวเขา บางผืนใช้การทอสลับกับลายขิต ซึ่งช่วยเพิ่มความวิจิตรงดงามให้แก่ผืนผ้า
ปัญหาในการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะผ้าไทยมีอะไรบ้าง
ศิลปะผ้าทอไทยอันมีประวัติยาวนานและมีความมั่งคั่งหลากหลาย ซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณจนทุกวันนี้ ตกอยู่ในมือของคนรุ่นเราและรุ่นหลังจะรักษาต่อไป หน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงานทั้งของรัฐบาลและเอกชนต่างก็ช่วยกันดำเนินการรับสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในเรื่องการศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาศิลปะผ้าทอของไทย อย่างไรก็ตามเท่าที่ได้มีการศึกษา สำรวจปัญหาต่าง ๆ พบว่ายังมีปัญหาในการส่งเสริมและพัฒนาศิลปะการทอผ้าไทยอยู่ดังนี้
๑. ศิลปหัตถกรรมในหลาย ๆ ท้องถิ่นยังถูกละเลย การผลิตศิลปหัตถกรรมกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปไม่มีแหล่งรวมในบางท้องถิ่น
๒. ขาดการกระตุ้นหรือประกวดให้ผลิตผลงานที่มีคุณภาพมาก ๆ ขึ้น
๓. ผู้มีฝีมือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอย่างอื่น
๔. ไม่รักษาคุณภาพให้สม่ำเสมอ เมื่อผ้าทอมือขายดีจะผลิตผ้าที่ด้อยฝีมือมาขายแทน ช่างทอก็มีคุณภาพด้อยลง และมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ
๕. ช่างฝีมือคุณภาพดีมักทำงานได้ช้าขายยาก เพราะต้องขายราคาแพงให้คุ้มกับเวลา หมดกำลังใจ ขาดการส่งเสริม ช่างทอฝีมือดี หลายคนยังไม่มีคนรู้จักและเห็นคุณค่า
๖. ช่างฝีมือขาดการแข่งขันทางความคิด
๗. การถ่ายทอดทำกันในวงจำกัด ขาดตัวผู้สืบทอดอย่างจริงจังและกว้างขวาง


โอ่งมังกร"ราชบุรี"ยังคงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือเหลือแค่ตำนาน
"โอ่งมังกร"สัญญาลักษณ์โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดราชบุรี ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรืออุตสาหกรรมพื้นบ้านที่คนราชบุรีภาคภูมิใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคำขวัญ"เมืองโอ่งมังกร"
ตั้งแต่ตอนเราเด็กๆยังจำได้ว่า มีโอ่งมังกรไว้รองรับน้ำฝนกันทุกบ้าน บางบ้านใช้ใบเล็กเก็บข้าวสาร เป็นไหน้ำปลา หรือไหดองผัก ถือเป็นภาชนะหลักในการเก็บน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม หรือน้ำใช้ ในห้องน้ำบ้านเราเราก็มีโอ่งน้ำไว้ตักอาบ ยังไม่มีฝักบัว หรือถังพลาสติกเหมือนในปัจจุบัน
"โอ่งมังกร"อุตสาหกรรมพื้นบ้านที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดราชบุรี
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ท่านว่าสมัยก่อนโอ่งที่ใช้กักเก็บน้ำชั้นดี ต้องนำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งนั้น แต่เนื่อจากภาวะสงครามโลกคร้งที่ 2 เป็นต้นมา สินค้าจากต่างประเทศหลายอย่างไม่สามารถนำเข้าประเทศได้จึงจำเป็นต้องผลิตกันเอง
และถ้าย้อนอดีต จากคำบอกเล่าของลูกหลาน ทายาทเจ้าของโรงโอ่ง ตั้งแต่ พ.ศ.2476 นายซ่งฮง แซ่เตีย และนายจือเหม็ง แซ่อึ้ง สองสหายที่เคยทำเครื่องปั้นดินเผาที่เมืองป้งโคย ประเทศจีน อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้มาพบแหล่งดิน ที่จ.ราชบุรี และเห็นว่าเป็นดินที่ใช้ในการปั้นโอ่งได้ จึงเป็นที่มาของโรงโอ่ง"เถ้าแซไถ่" และโรงโอ่ง"เถ้าฮงไถ่"ผลิตโอ่งลายมังกรในเวลาต่อมา
"โอ่งราชบุรี ทำไมต้องมีลายมังกร"
แต่เดิมที่ทำกันเป็นโอ่งที่ไม่มีลวดลายใดๆ เรียกว่า "โอ่งเลี่ยน" จากการที่ต้นกำเนิดโอ่งมาจากชายจีน 2 ท่านดังกล่าว เมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้วลูกหลานจึงได้คัดเลือกลวดลายที่เป็นมงคลขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อผู้ใช้ นอกเหนือจากการพัฒนาคิดหาความงดงามเพียงอย่างเดียว แน่นอน ในที่สุดก็เลือกสรรลวดลาย"มังกร"ขึ้น ตามคติความเชื่อในวัฒนธรรมของจีน
มังกร(Dragon) เป็นสัตว์ชั้นสูง ในแต่ละประเทศก็จะมีตำนานของตัวเอง แล้วแต่ความเชื่อบ้านเราเรียกว่า "พญานาค" จะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างก็คงเป็นที่รูปร่าง หน้าตา ชื่อ และความเชื่อ มีหนังสือตำราพิชัยสงครามกล่าวถึง มังกร ในการจัดขบวนทัพข้ามน้ำเรียกว่า "มังกรพยุหะ" มีการเขียนรูปมังกร คล้ายพญานาค เพียงแต่เพิ่มเขาและเท้าเข้าไป บางตัวมีเกล็ด บางตัวมีลายแบบงู
จีนแบ่งมังกรออกเป็น 3 ชนิด คือ
1.หลง เป็นพวกที่มีอำนาจมากที่สุด ชอบอยู่บนฟ้า
2.หลี เป็นพวกไม่มีเขา ชอบอยู่ในมหาสมุทร
3.เจียว เป็นพวกมีเกล็ด อยู่ตามแม่น้ำ ลุ่มหนอง คลองหรือถ้ำมังกรของจีน จัดให้มีระดับ และหน้าที่แตกต่างกันไปด้วย คือ
1. มังกรฟ้า หรือ มังกรสวรรค์ (เทียนหลง) เป็นมังกรชั้นสูง มีหน้าที่คุ้มครอง ดูแลสวรรค์
2. มังกรเทพเจ้า หรือมังกรจิตวิณญาณ (เซินหลง) มีหน้าที่ทำให้เกิด ลม ฝน แก่มวลมนุษย์
3.มังกรพิภพ (ตี้หลง) มีหน้าที่กำหนดเส้นทาง ดูแล แม่น้ำ ลำธาร ห้วยหนอง คลองบึง
4.มังกรเฝ้าทรัพย์ (ฝู ซาง หลง) มีหน้าที่เฝ้าขุมทรัพย์ของแผ่นดินลักษณะของมังกร
โดยทั่วไปในลวดลายของโอ่งลายมังกร จะมีเพียง 3 เล็บ หรือ 4 เล็บ แต่ถ้าเป็นมังกร สัญญลักษณ์ชั้นสูง ของกษัตริย์ หรือ ฮองเต้ จะมี 5 เล็บ
เมื่อกล่าวถึง"มังกร"ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เป็นมงคล เป็นความยิ่งใหญ่ จึงได้มีการวาดโอ่งลวดลายมังกร เพื่อเป็นศิริมงคล ความชื่นชมชื่นชอบของผู้ใช้
แต่ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดาย โลกเปลี่ยนแปลงไป ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนั้น นำความเจริญของวัตถุนิยม ทุนนิยม ความไม่สะดวก หรือ จะเชยล้าสมัย ตามคำกล่าวอ้างจะมีซักกี่บ้านกี่เรือนในปัจจุบันที่ยังนิยมใช้โอ่งลายมังกร ไว้เป็นภาชนะเก็บกักน้ำ แม้ว่าลูกหลาน ทายาทของผู้เฒ่าจีนเหล่านั้นยามเปลี่ยนแปลง พัฒนา รูปแบบ จากดินเผา เป็นเซรามิคซึ่งยังคงลวดลายมังกรที่ยิ่งใหญ่เพื่อความอยู่รอดของโรงงานตามแนวบรรพบุรุษ

๑“ไบโอดีเซล” จากปาล์มประกอบอาหารสู่เชื้อเพลิงเครื่องยนต์

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนผ่านโครงการส่วนพระองค์มาตั้งแต่ปี 2522 โดยมีโครงการผลิตแก๊สชีวภาพ เอทานอล แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลจากปาล์ม ซึ่งในส่วนของพระราชดำริด้านการพัฒนาน้ำมันปาล์มเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลนั้น การพัฒนาไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มในชื่อ “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล” ได้จดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2544
อีกทั้งในปี 2546 ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลจาก “โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม” ในงาน “บรัสเซลส์ ยูเรกา” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ทั้งนี้ปาล์มเป็นพืชที่ให้ปริมาณน้ำมันต่อพื้นที่ปลูกสูง อีกทั้งเกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ภายในประเทศ ซึ่งจะใช้ทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้

๒.โครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เป็นการขยายผลจากแนวพระราชดำริเป็นรูปธรรม จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็น จังหวัดชายแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุด ของประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่า และภูเขา ไกลออกไปจากตัวจังหวัดประมาณ 60 กิโลเมตร บนที่ราบสูงกว้างใหญ่ ปก คลุมไปด้วยป่าธรรมชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ มีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งกรมป่าไม้ได้สนองพระราชดำริ โดยจัดตั้งเป็น โครงการ พัฒนาตามแนวพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรม 5 อย่าง ได้แก่
- กิจกรรมปลูกสร้างสวนป่าตามโครงการพระราชดำริปางตอง 1 (ห้วยมะเขือส้ม)
- กิจกรรมสวนป่าตามโครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)
- กิจกรรมเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าปางตอง
- กิจกรรมพัฒนาพื้นที่บริเวณพระตำหนักปางตอง - ท่าโป่งแดง
- กิจกรรมควบคุมไฟป่าปางตอง - ท่าโป่งแดง