วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2551



โอ่งมังกร"ราชบุรี"ยังคงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือเหลือแค่ตำนาน
"โอ่งมังกร"สัญญาลักษณ์โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดราชบุรี ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรืออุตสาหกรรมพื้นบ้านที่คนราชบุรีภาคภูมิใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคำขวัญ"เมืองโอ่งมังกร"
ตั้งแต่ตอนเราเด็กๆยังจำได้ว่า มีโอ่งมังกรไว้รองรับน้ำฝนกันทุกบ้าน บางบ้านใช้ใบเล็กเก็บข้าวสาร เป็นไหน้ำปลา หรือไหดองผัก ถือเป็นภาชนะหลักในการเก็บน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม หรือน้ำใช้ ในห้องน้ำบ้านเราเราก็มีโอ่งน้ำไว้ตักอาบ ยังไม่มีฝักบัว หรือถังพลาสติกเหมือนในปัจจุบัน
"โอ่งมังกร"อุตสาหกรรมพื้นบ้านที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดราชบุรี
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ท่านว่าสมัยก่อนโอ่งที่ใช้กักเก็บน้ำชั้นดี ต้องนำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งนั้น แต่เนื่อจากภาวะสงครามโลกคร้งที่ 2 เป็นต้นมา สินค้าจากต่างประเทศหลายอย่างไม่สามารถนำเข้าประเทศได้จึงจำเป็นต้องผลิตกันเอง
และถ้าย้อนอดีต จากคำบอกเล่าของลูกหลาน ทายาทเจ้าของโรงโอ่ง ตั้งแต่ พ.ศ.2476 นายซ่งฮง แซ่เตีย และนายจือเหม็ง แซ่อึ้ง สองสหายที่เคยทำเครื่องปั้นดินเผาที่เมืองป้งโคย ประเทศจีน อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้มาพบแหล่งดิน ที่จ.ราชบุรี และเห็นว่าเป็นดินที่ใช้ในการปั้นโอ่งได้ จึงเป็นที่มาของโรงโอ่ง"เถ้าแซไถ่" และโรงโอ่ง"เถ้าฮงไถ่"ผลิตโอ่งลายมังกรในเวลาต่อมา
"โอ่งราชบุรี ทำไมต้องมีลายมังกร"
แต่เดิมที่ทำกันเป็นโอ่งที่ไม่มีลวดลายใดๆ เรียกว่า "โอ่งเลี่ยน" จากการที่ต้นกำเนิดโอ่งมาจากชายจีน 2 ท่านดังกล่าว เมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้วลูกหลานจึงได้คัดเลือกลวดลายที่เป็นมงคลขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อผู้ใช้ นอกเหนือจากการพัฒนาคิดหาความงดงามเพียงอย่างเดียว แน่นอน ในที่สุดก็เลือกสรรลวดลาย"มังกร"ขึ้น ตามคติความเชื่อในวัฒนธรรมของจีน
มังกร(Dragon) เป็นสัตว์ชั้นสูง ในแต่ละประเทศก็จะมีตำนานของตัวเอง แล้วแต่ความเชื่อบ้านเราเรียกว่า "พญานาค" จะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างก็คงเป็นที่รูปร่าง หน้าตา ชื่อ และความเชื่อ มีหนังสือตำราพิชัยสงครามกล่าวถึง มังกร ในการจัดขบวนทัพข้ามน้ำเรียกว่า "มังกรพยุหะ" มีการเขียนรูปมังกร คล้ายพญานาค เพียงแต่เพิ่มเขาและเท้าเข้าไป บางตัวมีเกล็ด บางตัวมีลายแบบงู
จีนแบ่งมังกรออกเป็น 3 ชนิด คือ
1.หลง เป็นพวกที่มีอำนาจมากที่สุด ชอบอยู่บนฟ้า
2.หลี เป็นพวกไม่มีเขา ชอบอยู่ในมหาสมุทร
3.เจียว เป็นพวกมีเกล็ด อยู่ตามแม่น้ำ ลุ่มหนอง คลองหรือถ้ำมังกรของจีน จัดให้มีระดับ และหน้าที่แตกต่างกันไปด้วย คือ
1. มังกรฟ้า หรือ มังกรสวรรค์ (เทียนหลง) เป็นมังกรชั้นสูง มีหน้าที่คุ้มครอง ดูแลสวรรค์
2. มังกรเทพเจ้า หรือมังกรจิตวิณญาณ (เซินหลง) มีหน้าที่ทำให้เกิด ลม ฝน แก่มวลมนุษย์
3.มังกรพิภพ (ตี้หลง) มีหน้าที่กำหนดเส้นทาง ดูแล แม่น้ำ ลำธาร ห้วยหนอง คลองบึง
4.มังกรเฝ้าทรัพย์ (ฝู ซาง หลง) มีหน้าที่เฝ้าขุมทรัพย์ของแผ่นดินลักษณะของมังกร
โดยทั่วไปในลวดลายของโอ่งลายมังกร จะมีเพียง 3 เล็บ หรือ 4 เล็บ แต่ถ้าเป็นมังกร สัญญลักษณ์ชั้นสูง ของกษัตริย์ หรือ ฮองเต้ จะมี 5 เล็บ
เมื่อกล่าวถึง"มังกร"ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เป็นมงคล เป็นความยิ่งใหญ่ จึงได้มีการวาดโอ่งลวดลายมังกร เพื่อเป็นศิริมงคล ความชื่นชมชื่นชอบของผู้ใช้
แต่ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดาย โลกเปลี่ยนแปลงไป ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนั้น นำความเจริญของวัตถุนิยม ทุนนิยม ความไม่สะดวก หรือ จะเชยล้าสมัย ตามคำกล่าวอ้างจะมีซักกี่บ้านกี่เรือนในปัจจุบันที่ยังนิยมใช้โอ่งลายมังกร ไว้เป็นภาชนะเก็บกักน้ำ แม้ว่าลูกหลาน ทายาทของผู้เฒ่าจีนเหล่านั้นยามเปลี่ยนแปลง พัฒนา รูปแบบ จากดินเผา เป็นเซรามิคซึ่งยังคงลวดลายมังกรที่ยิ่งใหญ่เพื่อความอยู่รอดของโรงงานตามแนวบรรพบุรุษ

ไม่มีความคิดเห็น: